วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

Rapid response team (ทีมดูแลผู้ป่วยก่อนวิกฤต)

          Rapid response team (หรือ Medical emergency team) หรืออาจจะเรียกว่า ทีมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ ทีมดูแลผู้ป่วยก่อนวิกฤต เป็นทีมที่มีความชำนาญในการประเมินและดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤต โดยทีมจะไปประเมินและรักษาผู้ป่วยที่มีสัญญาณเตือนว่าจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพื่อป้องกันการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพไม่คงที่ ผู้ป่วยที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีระบบหายใจหรือระบบหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้น

จากที่มีการจัดตั้งทีมนี้เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในโรงพยาบาลลดน้อยลง อัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นลดน้อยลง จำนวนวันที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือนอนใน  ICU ลดน้อยลง และอัตราการตายของผู้ป่วยในลดน้อยลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

          เพื่อที่จะพิจารณาว่าทีมเช่นนี้มีความจำเป็นกับโรงพยาบาลของเราหรือไม่นั้น ต้องเริ่มจากการทบทวนเวชระเบียนของผู้ป่วยที่เกิดระบบหายใจหรือระบบหัวใจล้มเหลวขึ้นในโรงพยาบาล ซึ่งบ่อยครั้งที่พบว่าก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤตเกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอาการของผู้ป่วยนำมาก่อน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพเกิดขึ้นและมีการบันทึกไว้โดยพยาบาลเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนที่อาการของผู้ป่วยจะทรุดหนักลง  ซึ่งเมื่อได้ทำการทบทวนข้อมูลเหล่านี้จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่สามารถที่จะป้องกันได้

ทีมจะมีขนาดเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงพยาบาลเช่น โรงพยาบาลขนาดเล็กทั้งทีมอาจจะมีแค่คนเดียว หรือบางทีมอาจจะมีถึง 6 คน สมาชิกทีมอาจจะประกอบด้วยแพทย์ พยาบาลที่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยวิกฤต นักบำบัดทางด้านการหายใจ (Respiratory therapist) เภสัชกร ผู้ช่วยแพทย์
แต่ส่วนใหญ่แล้วทีมจะประกอบด้วย  พยาบาล และ Respiratory therapist เป็นหลัก โดยเน้นว่าต้องเป็นคนที่สมัครใจและมีทักษะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต โดยที่จะเข้าไปดูผู้ป่วยทันทีเมื่อมีการร้องขอและสามารถให้คำปรึกษาได้ดี

***ถ้าไม่มีแพทย์อยู่ในทีมด้วยก็ควรที่จะมีแบบฟอร์มในการสื่อสารระหว่างทีมกับแพทย์โดยใช้เทคนิค SBAR (Situation-Background-Assessment-Recommendation) ยกตัวอย่างเช่น (Situationต้องการรายงานผู้ป่วยชื่อที่มีอาการ…(Backgroundผู้ป่วยเป็น case…(Assessmentมีอาการ….vital signs…ได้ให้ O2/IV…. (Recommendationผู้ป่วยยังมีอาการ….สงสัย….คุณหมอช่วย…..ด้วยนะค่ะ

ยกตัวอย่างเกณฑ์การตามทีมที่ใช้กันในหลายๆที่ได้แก่
  • ทีมรักษา (แพทย์ พยาบาล นักกายภาพ นักบำบัดการหายใจมีความกังวลในอาการของผู้ป่วย
  • มีการเปลี่ยนแปลงของ  HR < 40 หรือ > 130 bpm
  • มีการเปลี่ยนแปลงของ  SBP < 90 mmHg
  • มีการเปลี่ยนแปลงของ  RR < 8 หรือ > 28 per min
  • มีการเปลี่ยนแปลงของ O2 saturation < 90 % ขณะให้ O2
  • มีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรู้สึกตัว
  • มีการเปลี่ยนแปลงของ U.O. < 50 ml ใน 4 ชั่วโมง
ในเด็กมีการใช้ Paediatric Early Warning Scores (PEWS) เป็นเกณฑ์ในการช่วยระบุกลุ่มเสี่ยง
PEWS
วิธีการตามทีมควรที่จะง่าย ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก มีการประชาสัมพันธ์ทีม ไม่เฉพาะในหอผู้ป่วย แต่รวมถึงแผนกอื่นๆด้วยเช่นแผนกรังสี แผนกส่องกล้อง และบางแห่งสนับสนุนให้ญาติผู้ป่วยสามารถตามทีมได้ ถ้ามีผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง
ต้องมีการกำหนดขอบเขตการดูแลและหัตถการอะไรบ้างที่สามารถทำโดยได้รับความยินยอมหรือไม่ได้รับความยินยอมจากแพทย์ ยกตัวอย่างได้แก่
  • การใส่ Nasopharyngeal หรือ Oropharyngeal suctioning และการให้ O2
  • ให้ IV fluid bolus
  • ให้ IV furosemide bolus
  • ใส่ NIPPV
  • พ่นยา beta-agonists
  • เปิด IV line
  • เปิด Arterial line
  • ใส่ ETT
  • ใส่ central line
     การทำหัตถการบางอย่างปกติจำเป็นต้องทำตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ หรือต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วยภายหลังได้ข้อมูลจากแพทย์แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบายของโรงพยาบาลว่าต้องทำให้เกิดการยินยอมจากแพทย์เจ้าของไข้ในการอนุญาต ให้ทีมทำหัตถการที่จำเป็นโดยอัตโนมัติ โดยที่ต้องพยายามติดต่อแพทย์เจ้าของไข้ไปด้วยในทันที แต่แพทย์เจ้าของไข้ก็ไม่สามารถสั่งห้ามไม่ให้ทีมกระทำการใดๆในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ยกเว้นแพทย์เจ้าของไข้จะอยู่ที่นั่นด้วย
               
เมื่อมีการออกแบบทีม Rapid response  แล้วก็ต้องทำการประชาสัมพันธ์พร้อมกับเอกสารให้ความรู้ ยกตัวอย่างเช่น
  • เมื่อไหร่จึงจะเรียกใช้ทีม rapid response
  • ข้อมูลที่ทีมต้องการรู้ เช่น เกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย
  • สิ่งที่คาดหวังเมื่อเรียกทีม เช่น เป็นที่ปรึกษา ช่วยประเมินผู้ป่วย  พยาบาลประจำหอผู้ป่วยยังคงต้องตามแพทย์เจ้าของไข้ 
  • อะไรคือเป้าหมายของทีม เช่น อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ทักษะของพยาบาลประจำหอผู้ป่วยดีขึ้น ความร่วมมือระหว่างแผนกดีขึ้น
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าการตั้งทีมนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่น ลดผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ลดการย้ายลง ICU ลดอัตราตาย
  • ใครคือสมาชิกของทีมบ้าง
เริ่มทดลองใช้งานจริง 3 วัน แล้วทำการเก็บข้อมูลต่างๆเช่น ใช้เวลาตอบสนองเฉลี่ยเท่าไหร่ เวลาที่ใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายเท่าไหร่ อาการของผู้ป่วยมีอะไรบ้าง ได้ทำหัตถการอะไรบ้าง  แล้วรวบรวมปรับปรุงและนำเสนอกับฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

RefRapid responseteam: Institute of Healthcare Improvement 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น