วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Services)

การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Services)
คือ การขยายการบริการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินออกไปครอบคลุมตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล

องค์ประกอบ 15 อย่างในการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้แก่
  1. กำลังคน (Manpower) :มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของกำลังคน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เวชกรฉุกเฉิน (EMT) และชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับเบื้องต้น (First responder)
  2. การฝึกอบรม (Training): การผลิตบุคลากรใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการและมีการให้การศึกษาต่อเนื่องสำหรับบุคคลากรเก่า (เช่นแบบออนไลน์) เพื่อให้มีความรู้ที่ทันสมัยและคงทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน
  3. ระบบสื่อสาร (Communications) มีเบอร์โทรศัพท์ที่จำง่ายและสามารถใช้ได้ทั้งประเทศ (1669 หรือ 911) มีระบบที่สามารถระบุตำแหน่งพิกัดสถานที่โทรแจ้งได้ มีเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุที่ได้รับการอบรมให้สามารถรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น ส่งทีมที่เหมาะสมออกไป รวมถึงให้คำแนะนำด้านการรักษา มีระบบการสื่อสารระหว่างทีมที่ออกปฏิบัติการและโรงพยาบาลปลายทาง ระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ให้แพทย์สามารถดูแลและให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีระบบการสื่อสารสำรองในกรณีที่ระบบหลักใช้งานไม่ได้ (เช่นเกิดภัยพิบัติ)
  4. การลำเลียง (Transportation) โดยรถแบ่งออกเป็น รถสำหรับชุดปฏิบัติการระดับพื้นฐานและระดับกลางหรือสูง ซึ่งมียาและอุปกรณ์ที่แตกต่างกันตามระดับของบุคลากรที่ออกปฏิบัติงาน ในระดับต้นอาจมี AED, O2, BVM, อุปกรณ์ดาม ยึด ตรึงและอุปกรณ์ทำแผล แต่ไม่มียาหรืออุปกรณ์ IV นอกจากนี้ยังมีการลำเลียงทางเฮลิคอปเตอร์และทางเรืออีกด้วย
  5. โรงพยาบาลปลายทาง (Facilities and Critical-Care Units) มีระบบการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากความหนักเบาของผู้ป่วย และความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละโรงพยาบาล อาจจัดทำเป็นฐานข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต รายงานสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินและจำนวนเตียงว่างของโรงพยาบาล
  6. ความร่วมมือกับฝ่ายตำรวจและดับเพลิง (Public safety agencies) โดยให้การดูแลด้านความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเป็นคนแรกก็สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ และบ่อยครั้งที่บุคคลากรทางการแพทย์อาจเข้าไปให้การสนับสนุนด้านการแพทย์แก่ฝ่ายตำรวจหรือดับเพลิงในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย
  7. การมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ (Consumer participation) ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย อาจมีระบบการบริหารจัดการระดับท้องถิ่นโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีตัวแทนจากประชาชนเป็นหนึ่งในกรรมการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของท้องถิ่น และรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นอาสาสมัคร
  8. การเข้าสู่บริการ (Access to care) ต้องให้มั่นใจได้ว่าประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลได้ในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่มีเงื่อนไขของค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆมาเป็นอุปสรรค อาจต้องมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระจายออกไปในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล หรืออาจใช้เฮลิคอปเตอร์
  9. การส่งต่อผู้ป่วย (Patient transfer) ระหว่างโรงพยาบาล มีการตกลงร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ กำหนดแนวทางการประสานงานการส่งต่อ ในโรงพยาบาลต้นทางต้องทำการตรวจและพยายามรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการคงที่เสียก่อน
  10. การบันทึกข้อมูล (Coordinated patient record keeping) ต้องอ่านง่าย เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ง่ายและมีมาตรฐานเดียวกัน มีการรักษาความลับข้อผู้ป่วย ปัจจุบันใช้การบันทึกลงในฐานข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ซึ่งโรงพยาบาลสามารถพิมพ์ออกมาได้
  11. การให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน (Public information and education) ให้รู้จักการโทรแจ้งเหตุเฉพาะในกรณีที่จำเป็น สอนให้รู้จักการดูแลตนเองเบื้องต้น การกู้ฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน การเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติเบื้องต้น
  12. การทบทวนและประเมินผล (Review and evaluation) ให้ทำเป็นประจำ อาจทำโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้แก่ การตรวจสอบระบบการสื่อสาร กรอบเวลาต่างๆ เช่น เวลาในการออกเหตุ เวลาที่สถานที่เกิดเหตุ การบันทึกข้อมูล ผลการรักษา รวมถึงการทำวิจัยในการพัฒนางานด้านนี้
  13. แผนรับมือภัยพิบัติ (Disaster plan) ของระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มีการซ้อมแผนร่วม การสต็อกอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ
  14. การช่วยเหลือกันระหว่างท้องถิ่น (Mutual aid) มีการตกลงให้ความช่วยเหลือจากท้องถิ่นอื่น ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการทรัพยากรมากกว่าปกติ ซึ่งหน่วยงานในท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทัน มีตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย และแนวทางการบังคับบัญชาในสถานที่เกิดเหตุ

ระบบ EMS ในอนาคต
  • มีการใช้เครื่อง AED ในการปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น
  • มีการใช้เครื่อง Automatic chest compression
  • การทำ therapeutic hypothermia
  • การ activated catheterization labs ในเคส STEMI
  • ระบบ Telemedicine



สามารถดูคู่มือ/แนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับองค์ประกอบข้างต้น สื่อประชาสัมพันธ์ ความรู้ในการปฐมพยาบาล และการเตรียมตัวในภาวะภัยพิบัติได้ที่ www.niems.go.th



Ref: Tintinalli ed8th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น