วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster Preparedness)

การเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster Preparedness)

ประเภทของภัยธรรมชาติ ได้แก่
  1. พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclones) แบ่งออกเป็น ดีเปรสชั่น โซนร้อน ไต้ฝุ่น
  2. แผ่นดินไหวและสึนามิ (Earthquakes and Tsunami)
  3. อุทกภัย (Floods) ได้แก่ น้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่า
  4. พายุฟ้าคะนองหรือพายุฤดูร้อน (Thunderstorms) ได้แก่ พายุทอร์นาโด ลมงวงช้างหรือนาคเล่นน้ำ (water spout) อากาศปั่นป่วน ลูกเห็บ ฟ้าแลบฟ้าผ่า ฝนตกหนัก
  5. แผ่นดินถล่ม (Landslide)
  6. คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surges)
  7. ไฟป่าและหมอกควัน (Fires and Smoke)
  8. ฝนแล้ง (Droughts)
***สามารถดูพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติดังนี้ อุทกภัยและโคลนถล่ม สึนามิ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว วาตภัย

โรงพยาบาลควรที่จะเตรียมความพร้อมรองรับการรักษาพยาบาลในภาวะภัยพิบัติ โดยพิจารณาจากปัญหาที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
  •  การสูญเสียโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา การสุขาภิบาล เป็นต้น การวางแผนรับมือควรที่จะเป็นวิธีที่ง่าย ใช้ได้จริง ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เช่น เมื่อไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง อาจทำให้ระบบการสื่อสารล่ม แต่โทรศัพท์แบบเก่า (ส่งสัญญาณทางสายโทรศัพท์) จะยังคงใช้ได้อยู่

โรคที่จะเกิดขึ้นในระยะเฉียบพลันและระยะหลังเกิดภัยพิบัติ ได้แก่
  • การบาดเจ็บ (Trauma) ส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย ต้องเตรียม เช่น สำรองยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด tetanus vaccine อุปกรณ์ทำแผล เป็นต้น สำหรับการบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องทำการผ่าตัด ต้องเตรียม เช่น เลือดและองค์ประกอบของเลือด ยาทางวิสัญญี สถานที่ดูแลผู้ป่วยหนัก เครื่องมือผ่าตัด ห้องผ่าตัด เป็นต้น
  • โรคติดเชื้อ (Infectious disease) ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่พบในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะพบมากขึ้นเมื่อคนมาอยู่รวมกันและสุขาภิบาลไม่ดี ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ (หวัดในเด็ก การติดเชื้อจากสำลักน้ำ โรคหัด ไอกรน) โรคทางเดินอาหาร (ท้องเสีย) โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อติดเชื้อ  โรคจากสัตว์หรือแมลงนำโรค (malaria, dengue)  ซึ่งเตรียมการเช่น สำรองยาปฏิชีวนะ วัคซีน (measles, pertussis) สบู่ เป็นต้น
  • การกำเริบของโรคประจำตัว (Chronic medical conditions) ต้องรู้ว่าประชากรในท้องถิ่นมีโรคประจำตัวที่พบบ่อยอะไรบ้าง และเตรียมยาที่อาจต้องใช้ (DM, HT, asthma, CAD)
  • ปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health) ที่เพิ่มขึ้น เช่น posttraumatic stress disorder, suicide เป็นต้น ซึ่งต้องเตรียมการตอบสนองอย่างเพียงพอ ทั้งในคนที่รอดชีวิต คนที่บาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์
  • การจัดการศพ ต้องทำ universal precaution ได้แก่ มีชุดป้องกัน การล้างมือ การฉีดวัคซีน (Hepatitis B, TB) การเตรียมรถบรรทุกตู้แช่ศพ กรณีที่ห้องเก็บศพไม่เพียงพอ

การเตรียมทรัพยากรนอกจากจะดูจากปริมาณประชากรในท้องถิ่นแล้ว ยังต้องคำนึงถึงกลุ่มอาสาสมัครที่จะเดินทางเข้ามาช่วยเหลืออีกด้วย จากข้อมูลในอดีตพบว่ากลุ่มอาสาสมัครส่วนมากมักขาดทักษะ ซึ่งจะเป็นภาระมากกว่า เพราะเกิดการแย่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (ที่พัก อาหาร ยารักษาโรค) รวมถึงมักคาดหวังว่าจะมีเหตุการณ์ช่วยชีวิตที่ตื่นเต้นเร้าใจ จึงอาจไม่เต็มใจที่จะทำงานทั่วไปๆที่ต้องทำเป็นประจำ

ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical Emergency Response Team-MERT) ที่จะเข้าไปช่วยเหลือควรได้รับการจัดตั้งและฝึก  ซึ่งสามารถดูแลตนเองได้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง โดยไม่รบกวนทรัพยากรท้องถิ่น ทำการติดต่อกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภัยพิบัติ และมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ

การประสานการทำงานกับทีมแพทย์จากกองทัพเป็นวิธีหนึ่งการที่จะขยายการช่วยเหลือออกไปได้อย่างครอบคลุม



Ref: Tintinalli ed8th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น