วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Intimate Partner Violence

Intimate Partner Violence
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้นเป็นวงจร เริ่มจาก 1) เกิดความตึงเครียดขึ้น (tension building) อาจมีการโต้เถียงกัน กล่าวโทษกัน ใช้อำนาจควบคุม ความหึงหวง ต่อมา 2) จะมีความรุนแรงมากขึ้น (escalation) มีการพูดข่มขู่ การกระทำรุนแรงทางกายหรือทางเพศเกิดขึ้น อาจมีการใช้อาวุธร่วมด้วย และสุดท้าย 3) คือ “honeymoon” phase ฝ่ายที่ทำรุนแรงอาจขอโทษ หรือ อ้างเหตุผลของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่วงจรเหล่านี้มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

ประวัติและตรวจร่างกายที่อาจทำให้สงสัยว่าเกิดจากความรุนแรงในครอบครัว เช่น
  • รอยเล็บข่วน เล็บหัก ฟันหัก รอยกัด รอยบุหรี่จี้ รอยช้ำจากการบีบรัด
  • รอยช้ำหรือกระดูกที่ปลายแขนหักจากการป้องกันตัว
  • การบาดเจ็บในคนท้อง โดยเฉพาะที่ศีรษะ คอ หน้า อก ท้อง
  • มีการบาดเจ็บหลายตำแหน่งไม่เข้ากับประวัติที่ได้ มีท่าทีไม่อยากบอก บอกปัด หรือไม่สนใจต่อการบาดเจ็บ
  • มีการบาดเจ็บในหลายระยะ มักอ้างอุบัติเหตุ หรือเป็นคนซุ่มซ่าม
  • มารักษาช้า อาจรออยู่หลายวัน อาจมาหาทั้งที่เป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยหรืออาจหายจากการบาดเจ็บแล้ว
  • มาห้องฉุกเฉินบ่อยๆด้วยเรื่องการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหลายรูปแบบ อาจมีปัญหา chronic pelvic pain หรือ chronic pain อื่นๆ
  • มาด้วยการพยายามฆ่าตัวตาย
  • อาจสงสัยจากลักษณะของคู่สามีภรรยาที่มาด้วย อาจมีท่าทีคอยควบคุม ดุด่า ร้อนใจ ผู้ป่วยอาจดูหวาดกลัวคู่ครองและไม่ยอมตอบคำถาม

การคัดกรองเบื้องต้นกับวัยรุ่นและผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ทุกรายที่มาห้องฉุกเฉิน
อาจเริ่มต้นบทสนทนา ในโรงพยาบาลของเรา เราให้ความสำคัญทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัย ดังนั้นเราจึงถามคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวกับผู้หญิงทุกๆคน เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก และเราต้องการที่จะตอบสนองต่อเรื่องนี้ให้ดีมากขึ้น
  1. เคยรู้สึกกลัวแฟนหรือเปล่า
  2. ในช่วงปีที่ผ่านมา เคยถูกแฟนทำร้ายร่างกาย ตี ชก เตะ ต่อย หรือไม่
  3. ในช่วงปีที่ผ่านมา เคยถูกแฟนทำให้อาย ทำให้ขายหน้า หรือพยายามควบคุมว่าคุณทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้างหรือไม่
  4. ในช่วงปีที่ผ่านมา เคยถูกแฟนขู่จะทำร้ายหรือไม่

ผู้ป่วยต้องการให้แพทย์มีความไวต่อความรู้สึก ตรงไปตรงมา และไม่ด่วนตัดสินว่าใครเป็นคนอย่างไร ส่วนแพทย์จะต้องทำให้มั่นใจในเรื่องการรักษาความลับ (confidentiality) ของผู้ป่วย และเข้าใจว่าปัญหาควานรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และไม่สามารถจะแก้ไขได้ในทันที  

ถ้าพบความรุนแรงในครอบครัว ให้ถามว่าต้องการความช่วยเหลือในวันนี้หรือไม่ แนะนำว่ารพ.สามารถติดต่อหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือได้ ช่วงอันตรายที่สุดคือช่วงที่พยายามจะยุติความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นควรส่งตัวไปพบผู้เชี่ยวชาญ (ศูนย์ประชาบดี 1300) ในเรื่องนี้เพื่อประเมินสถานการณ์ วางแผน และเตรียมบ้านพักฉุกเฉินไว้ก่อน โดยไม่ให้ผู้กระทำรู้
ถ้าสถานการณ์เสี่ยงอันตรายมาก อาจใช้ชื่อปลอม admit ผู้ป่วยไว้ก่อน

บันทึกรายละเอียด
  • เป็นคำพูดของผู้ป่วยเอง บันทึกวัน เวลา สถานที่ พยาน และการบาดเจ็บไว้ บันทึกปัญหาสุขภาพ ลักษณะ ท่าทาง สีหน้าของผู้ป่วย ถ่ายรูปประกอบ
  • การเก็บหลักฐานทางนิติเวช ให้คำนึงถึงความต่อเนื่องของการครอบครองวัตถุพยาน (chain of custody)
  • บันทึกการประเมินเรื่องความปลอดภัย แผนช่วยเหลือ ทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุ

Ref: Tintinalli ed8th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น