วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน กับ โรงพยาบาล

ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน กับ โรงพยาบาล
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.๒๕๔๐ มาตรา ๕๒ ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุข จึงมีพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.๒๕๔๑ มาตรา ๓๖ และ พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.๒๕๕๑ มาตรา ๒๘ ป้องกันการเตะส่งผู้ป่วยจากรพ.หนึ่งไปยังอีกรพ.หนึ่งอย่างไม่เหมาะสม สรุปหลักการดังนี้
มีการตรวจคัดแยกระดับความรุนแรงแล้วให้มีการประเมิน ถ้าพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิตหรือถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงมากขึ้น (รวมถึงอาการเจ็บปวดมาก/ทุรนทุราย) ต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างเต็มขีดความสามารถจนอาการทุเลากลับบ้านได้หรือส่งต่อไปในรพ.ในระบบ

แนวทางปฏิบัติสำหรับโรงพยาบาล
ภาวะฉุกเฉินเมื่อพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายของพรบ.นี้ก็พบว่าก็คือผู้ป่วยที่ได้รับการคัดแยกระดับความรุนแรงว่าเป็น ESI triage level 1-2 เพราะฉะนั้นตามระเบียบนี้คนที่แสดงความต้องการที่จะตรวจรักษาที่มารพ.ทุกราย (ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาใดหรือคนต่างด้าว ไม่นับรวมคนที่ปรากฏตัวที่รพ.แต่ไม่แสดงความต้องการรับการตรวจรักษาควรได้รับการคัดแยกว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ โดยทำช่องให้กาเลือกในใบตรวจผู้ป่วยเสมอ โดยสถานพยาบาลมีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลผู้ปฏิบัติการให้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว
(อาจจะยกเว้นบางกลุ่มไม่ต้องคัดแยกเช่นคนที่มาตรวจสุขภาพ เจาะเลือดประจำปีหรือรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเป็นต้น)
สำหรับแพทย์ฉุกเฉินแล้วมีหน้าที่ประเมินและรักษาผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉิน ยกเว้นว่าผู้ป่วยมีหมอส่วนตัวและหมอส่วนตัวตัวมาดูแลแล้ว หรือแพทย์ฉุกเฉินทำการประเมินแล้วว่าสามารถรอหมอส่วนตัวได้
เหตุการณ์บางอย่างเช่น อุบัติภัยหมู่ถึงแม้ว่ารพ.จะไม่มีบุคคลากรเพียงพอที่จะให้การรักษาได้ทันที แต่ผู้ป่วยก็ควรได้รับการคัดแยกความหนักเบาทันที อาจจะขอความช่วยเหลือจากเวชกรฉุกเฉินที่มาส่งผู้ป่วยให้ดูแลผู้ป่วยจนกว่าแพทย์/พยาบาลจะมาดูแลต่อได้

การตรวจรักษาในภาวะฉุกเฉิน
โรงพยาบาลต้องกำหนดนโยบายเพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ป่วยที่มาต้องได้รับการตรวจที่มีมาตรฐานเพื่อค้นหาภาวะที่เป็นอันตรายโดยเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน โดยมาตรฐานการตรวจรักษาแต่ละโรงพยาบาลอาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเพราะนโยบายแต่ละโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับศักยภาพที่โรงพยาบาลมี    
แพทย์ทำการรักษาภาวะฉุกเฉินเพื่อให้อาการผู้ป่วยอยู่ในภาวะคงที่หรือถ้าไม่มีศักยภาพที่จะรักษาได้ให้ทำการที่ส่งตัวผู้ป่วยต่อเพื่อไปรับการรักษาที่จำเป็น เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะคงที่แล้วรพ.สามารถส่งไปรักษาต่อยังรพ.ในระบบได้ คนที่จะตัดสินใจว่าผู้ป่วยอาการคงที่หรือไม่คือแพทย์ที่กำลังตรวจผู้ป่วยอยู่เท่านั้น (ไม่ใช่แพทย์คนที่ฟังอาการทางโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์ที่รพ.ปลายทาง ยกเว้นว่าแพทย์นั้นๆจะมาดูผู้ป่วยเอง)
หลังให้การรักษาเบื้องต้นจนอาการคงที่แล้วแพทย์พิจารณาว่าให้กลับบ้าน รับตัวไว้ในรพ.หรือส่งตัวต่อไปยังรพ.อื่น โดยเลือกรพ.ในระบบที่มีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยรายนั้นๆหรือรพ.ที่ผู้ป่วยร้องขอ

สิ่งที่ต้องมีเมื่อจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังรพ.อื่น
  •         ผู้ป่วยมีอาการคงที่ (หรืออาการยังไม่คงที่แต่การส่งตัวขณะนั้นมีประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่า)
  •         มีการรับรองจากแพทย์ในการส่งตัว ความเสี่ยงและประโยชน์ในการส่งตัวต่อ
  •         หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ป่วยที่ได้รับการบอกกล่าว (informed consent) เรื่องการส่งตัวไปรักษาต่อยังรพ.อื่น
  •         ได้รับคำยินยอมจากรพ.ปลายทาง
  •         ใบส่งตัว บันทึกรายละเอียดในการรักษา ผลการตรวจ ผลเลือด ผลเอ็กซเรย์
  •         เตรียมบุคลากร อุปกรณ์ ยานพาหนะที่เหมาะสมในการส่งตัว
  •         เก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

เมื่อการส่งตัวต่อเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลก็เป็นหน้าที่ของรพ.ปลายทางที่จะยินยอมรับตัวผู้ป่วยมา โดยรพ.ปลายทางต้องสร้างระบบในการตัดสินใจรับการส่งตัวผู้ป่วย ซึ่งการจะใช้แพทย์เฉพาะทางที่อยู่เวรคนใดคนหนึ่งมาตัดสินใจเพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ควรจะต้องมีตัวแทนจากฝ่ายบริหารหรือแพทย์ฉุกเฉินร่วมด้วยเพื่อป้องกันการปฏิเสธผู้ป่วยอย่างไม่เหมาะสม
                ถ้าเป็นไปได้แต่ละรพ.ควรกำหนดให้ชัดเจนว่ารพ.มีศักยภาพด้านอะไรและช่วงเวลาอะไรบ้าง และรพ.ปลายทางควรให้คำตอบแก่รพ.ต้นทางได้ในเวลาที่รวดเร็วจะสามารถรับตัวผู้ป่วยได้หรือไม่
โรงพยาบาลปลายทางจะปฏิเสธการส่งต่อผู้ป่วยจากรพ.อื่นได้ก็ต่อเมื่อ
  •         เหตุผลที่จะส่งตัวไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ อาจจะเนื่องจากผู้ป่วยร้องขอและโรงพยาบาลทั้งสองมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยคนนั้นเท่ากัน (lateral transfer)
  •         โรงพยาบาลขาดศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยรายนั้น
  •         ถ้าการส่งต่อนั้นไม่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ณ เวลาที่จะทำการส่งตัว เช่น ส่งตัวผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดด่วนไปยังรพ.ที่ไกลกว่า แม้ว่าจะมีรพ.ที่ใกล้กว่าที่สามารถผ่าตัดได้ แต่ถ้ามีเหตุผลเหมาะสมแม้ว่าจะอยู่คนละจังหวัดหรืออยู่นอกเขตพื้นที่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้


บทความนี้อ้างอิงจากแนวทางปฏิบัติในประเทศสหรัฐอเมริกาและพรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น