- ความปลอดภัย คือ การควบคุมและรักษาสภาวะที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อบุคคลและทรัพย์สินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ การลงทุนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต้องไม่มากเสียจนทำให้องค์กรล้มละลาย หรือไม่น้อยเกินไปจนเกิดหายนะจากอุบัติเหตุ ระดับที่เหมาะสมนี้ เรียกว่าเป็น safety space หรือ พื้นที่ปลอดภัย
- ในการทำงานบ่อยครั้งเกิดความผิดพลาด (error) ขึ้น ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น การเผอเรอ (slip) หรือการลืม (lapse) หรือเป็นความผิดพลาดที่ตั้งใจ เช่น เกิดจากความเข้าใจผิด (mistake) ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ หรือ จากการฝ่าฝืน (violation) ซึ่งอาจเกิดจากผู้ปฏิบัติเห็นว่าวิธีของตนดีกว่าแนวทางปฏิบัติขององค์กร เป็นต้น
- ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเรียกว่า
สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ (undesired state) นำไปสู่อุบัติการณ์
(incident) หรือ อุบัติเหตุ
(accident)
- เรามีหน้าที่วิเคราะห์ สอบสวนว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีปัจจัยอะไรอยู่เบื้องหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดขึ้น เรียกว่า ภัยคุกคาม (threat) อาจเป็นปัจจัยภายนอก หรือ ปัจจัยภายใน เช่น ความเหนื่อยล้า ความเครียด สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน
- ในการวิเคราะห์หาปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาดนี้ นอกจากความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติ (active failure) แล้ว เราต้องพยายามแยกแยะหาสาเหตุของระบบ หรือ ปัญหาที่แฝงเร้น (latent failure) อยู่ด้วย ซึ่งระบบที่ทำงานเป็นปกตินั้นควรที่จะต้องสามารถป้องกันการทำงานผิดพลาดของผู้ปฏิบัติได้
- มนุษยปัจจัย (Human factors) กล่าวถึงการที่มนุษย์มีข้อจำกัดหลากหลายประการ ทั้งข้อจำกัดทางการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย ล้วนถูกจำกัดด้วยอิทธิพลของสภาพแวดล้อม หรือจากตัวบุคคลเอง เช่น อายุ สุขภาพ ความอ่อนล้า การอดนอน ความเครียด ยา หรือสารเสพติด เป็นต้น และข้อจำกัดจากการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับคน หรือ คนกับคู่มือ/กฎระเบียบ หรือ คนกับอุปกรณ์/เครื่องมือ เป็นต้น จึงมีการนำความรู้เรื่องข้อจำกัดเหล่านี้ไปออกแบบอุปกรณ์และขั้นตอนการปฏิบัติที่เหมาะสมกับมนุษยปัจจัย เพื่อลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดขึ้น หรือ ที่เรียกว่า Human factors engineering design เช่น ออกแบบอุปกรณ์/ผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการใช้งาน ออกแบบระบบบันทึก การทำ checklist การตั้งสัญญาณเตือนในระดับที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป เป็นต้น
Non-technical skills หรือ
อาจเรียกว่าทักษะการคิด ชีวิต และสังคม เป็นทักษะที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากการทำงาน
ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการจัดการภายในทีม โดยมีทักษะที่น่าสนใจ
ได้แก่
- การตระหนักสถานการณ์ (Situation
awareness)
- การตัดสินใจในเวชปฏิบัติ (Clinical
decision making)
- การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
- การสื่อสาร (Communication)
- ภาวะผู้นำ (Leadership)
- การจัดการความเครียดและความเหนื่อยล้า
(Stress and fatigue management)
การตระหนักสถานการณ์ (Situation
awareness)
- คือ การรับรู้สิ่งต่างๆรอบๆตัว นำมาคิดวิเคราะห์ แล้วคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น
- การให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้องและครบถ้วน ควรทำแบบมีแบบแผน เช่น
- Standard operation procedure (SOP) เช่น แนวทางปฏิบัติการจัดการอุบติภัยหมู่ แนวทางปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยเสียเลือดมาก เป็นต้น
- Checklist มี 2 ประเภท คือ 1) Read and Do checklist ใช้เมื่อเจอปัญหาเพื่อให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เช่น anaphylaxis shock checklist; 2) Do then Read ใช้ในงานปกติที่ทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อยืนยันว่าไม่มีขั้นตอนใดถูกละเลยไป เช่น time out ก่อนผ่าตัด
- Briefing คือ การบรรยายสรุปก่อนการทำงานใดงานหนึ่ง เพื่อให้ทีมมีความเข้าใจและคาดการณ์สถานการณ์ได้ตรงกัน
- Team situation awareness คือ การสร้างบรรยากาศในองค์กรที่คนอยากแบ่งปันการตระหนักสถานการณ์ของตนเองกับผู้อื่น นำความเสี่ยงมาเล่าสู่กันฟังอย่างสะดวกใจ และทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- ข้อควรระวังในการตระหนักสถานการณ์ คือ อคติที่เกิดขึ้นในการรับรู้และการเลือกรับข้อมูล เช่น คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อสมมติฐานแรก (primary effect) และ พยายามตีความข้อมูลใหม่ๆให้สอดคล้องกับมุมมองของตนเอง หรือ กรองข้อมูลใหม่ๆที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเองทิ้งไป เรียกว่า อคติจากการเลือกรับข้อมูล (confirmation bias) เป็นต้น
การตัดสินใจในเวชปฏิบัติ (Clinical
decision making)
- เป็นกระบวนการต่อเนื่องในการวิเคราะห์ทางเลือก พิจารณาว่าจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ซึ่งมีปัจจัยรบกวนหลายอย่าง เช่น การได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลมากหรือน้อยเกินไป การขาดประสบการณ์ ขาดอุปกรณ์ ความอ่อนล้าจากการทำงาน ความคาดหวังของผู้ป่วย ญาติ หรือของเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
- Dual process theory คือ ทฤษฎีการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล จะมีการผสานการคิดสองระบบเข้าด้วยกัน คือ แบบช้าและแบบเร็ว ขึ้นกับแต่ละสถานการณ์เพื่อให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- Intuitive เป็นการคิดอย่างรวดเร็ว ในรูปแบบของ pattern recognition จะใช้ความรู้ที่มี สัญชาติญาณ และประสบการณ์ ข้อดี คือ ทำได้อย่างรวดเร็วและใช้ความพยายามน้อย แต่ข้อเสีย คือ ขาดความระแวดระวัง อาจเกิดการด่วนสรุป นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
- Analytic เป็นการคิดช้าๆ มีการพิจารณาทางเลือกต่างๆ ข้อดีข้อเสีย ความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ในแต่ละทางเลือก และทำการประเมินผลก่อนเริ่มการตัดสินใจครั้งใหม่ ข้อดี คือ มีการคิดอย่างเป็นระบบ ใช้เหตุผลมาก ใช้อารมณ์น้อย แต่ข้อเสีย คือ ช้า และต้องใช้ความพยายามมาก
การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
- หัวหน้าทีม
- คนในทีมที่มีความสามารถเพียงพอให้เสนอตัวเป็นผู้นำ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการทำงาน
- ทำการกำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในทีม
- สื่อสารให้สมาชิกรับรู้สถานการณ์และมีความเข้าใจตรงกัน
- มีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนการทำงาน
- สังเกตการณ์ทำงานและปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสถานการณ์ที่เผชิญ
- สร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม รับฟังเหตุผล
- สมาชิกทีม
- รับผิดชอบหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่
- ทราบข้อจำกัดของตนเอง ไม่รั้งรอที่จะขอความช่วยเหลือ
- ช่วยกันสังเกตการณ์การทำงานของกันและกัน และช่วยเหลือกันเมื่อเกิดปัญหา
- ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันวางแผน และสามารถท้วงติงกันได้อย่างสร้างสรรค์
- มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
คือ การสื่อสารที่กระชับ ชัดเจน และถูกต้อง เหมาะสมกับเวลาและโอกาส
มีการสั่งและรับการรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น การทวนคำสั่ง (Closed-loop
communication), ISBAR
- ให้เกียรติและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน (Mutual respect) แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
การสื่อสาร (Communication)
- เนื้อความของสาร ต้องมีความชัดเจน กระชับ และถูกต้อง (3C: Clear, Concise, Correct) รวมถึง การใช้อวัจนภาษา ได้แก่ สีหน้า แววตา การเคลื่อนไหว ท่าทาง ลักษณะของเสียง จะช่วยเพิ่มน้ำหนักของคำพูด รวมถึงแสดงความเป็นคนมีมารยาท แต่ต้องระวังไม่ทำให้เกิดการแปลความหมายผิดไปได้
- Assertiveness คือ การสื่อสารที่ผู้สื่อสารไม่เพียงการถ่ายทอดข้อมูลเท่านั้น ยังสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนเองให้กับผู้อื่น และแสดงจุดยืนของตนเองบนเหตุผล โดยไม่ก้าวร้าว มักใช้ในสถานการณ์เพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ได้แก่ การยืนยันสิ่งที่พูด การพูดซ้ำ การใช้ประโยคที่ขึ้นด้วย “I massage” การใช้น้ำเสียงแสดงความมั่นใจ ตัวอย่างเช่น ใน ER พยาบาลโทรแจ้งแพทย์เพราะอยากให้มาประเมินผู้ป่วยซ้ำ ดังนี้
- สถานการณ์แรก พยาบาล “หมอสมชายคะ ขณะนี้คนไข้ความดันโลหิต 90/60 มม.ปรอท ชีพจร 120 ครั้งต่อนาที” หมอ “งั้นเพิ่ม rate IV เป็น 120 mL/h แล้ว admit ได้” สรุปว่าเคสนี้แพทย์ไม่ได้มาดูผู้ป่วยซ้ำ
- สถานการณ์ที่สอง
พยาบาล “หมอสมชายคะ
ขณะนี้คนไข้ความดันโลหิต 90/60 มม.ปรอท
ชีพจร 120 ครั้งต่อนาที หนูอยากให้อาจารย์ช่วยมาดูผู้ป่วย
[I massage]” หมอ “งั้นเพิ่ม
rate IV เป็น 120
mL/h แล้ว admit ได้”
พยาบาล “หนูคิดว่าผู้ป่วยความดันตก
อยู่ในภาวะช็อค ต้องมีการประเมินหาสาเหตุและ resuscitation
ค่ะ
หนูอยากให้หมอมาช่วยดูแลค่ะ” [ยืนยันสิ่งที่ต้องการ
และอธิบายปัญหาให้ชัดเจน]
- ทักษะการฟัง ระดับการตั้งใจฟังแบ่งออกเป็นหลายระดับ โดยส่วนมากผู้ที่คิดว่าเป็นผู้ฟังที่ดีมักจะอยู่ในระดับผู้ฟังเนื้อความ (technical listener) เท่านั้น คือ เข้าใจเนื้อหา แต่ไม่ได้วิเคราะห์ถึงความรู้สึก หรือสิ่งที่ผู้พูดต้องการ ซึ่งเป็นทักษะการฟังที่สูงขึ้น เรียกว่า ผู้ฟังอย่างตั้งใจ (active-listener) ซึ่งต้องมีทักษะย่อย ดังนี้
- การตั้งใจฟัง (attending skill) ได้แก่ มีการสบสายตา (eye contact) ไม่นั่งเขย่าขา ควงปากกา เอามือเคาะโต๊ะ เป็นต้น
- การติดตามการฟัง (following skill) ช่วยให้ผู้พูดพูดต่อด้วยความสบายใจ เช่น การพูด “อืม” “จริงเหรอ” “เล่าต่อซิ” “แล้วยังไงต่อ” ร่วมกับการถามแต่พอดี ในบางครั้งต้องมีทักษะการเงียบ (attentive silence) เพื่อแสดงว่าเราตั้งใจฟัง และคิดตามสิ่งที่พูด
- การสะท้อนความรู้สึก (reflecting skill) โดยการจับความรู้สึกของผู้พูด หรือการจับประเด็นสำคัญแล้วสะท้อนออกมาเป็นคำพูดของเราเอง
- เครื่องมือที่ช่วยให้ในการสื่อสารมีประสิทธิภาพ เช่น pre-task brief (สรุปกิจกรรมก่อนลงมือปฏิบัติ), debrief (การทบทวนกิจกรรมหลังลงมือปฏิบัติ), ISBAR, patient hand-overs, closed loop communication เป็นต้น
- ISBAR
(Introduction, Situation, Background, Recommendation) ตัวอย่างสถานการณ์ในห้องคลอด
“หมอค่ะ
พี่พิสมัยจากห้องคลอดนะคะ รายงานเคสคุณสำลี (I)
ตอนนี้มีภาวะตกเลือดหลังคลอด
2000 ซีซี (S)
ผู้ป่วย
G4P3 term คลอดปกติ บุตรหนัก 4,000
กรัม
(B) ตอนนี้ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืดใจสั่น
ความดันโลหิต 90/60 มม.ปรอท
ชีพจร 110 ครั้งต่อนาที หายใจ
20 ครั้งต่อนาที
O2 sat 98% คลำหน้าท้องมดลูกไม่แข็งตัว (A)
พี่อยากให้หมอมาดูผู้ป่วยตอนนี้เลยค่ะ
(R)”
- Patient
hand-overs หรือ การส่งเวร ควรส่งแบบ face-to-face
communication เวลาเดียวกันในแต่ละครั้ง
สถานที่ใกล้ที่ทำงานมากที่สุด มีเสียงรบกวนน้อย ใช้รูปแบบการส่งที่มีแบบแผน เช่น SBAR
ส่งต่อผ่านการสนทนาที่มีการจดบันทึก
อาจให้ผู้รับเวรอ่านบันทึกการส่งข้อมูลให้อีกฝ่ายฟัง และซักถามข้อสงสัย (read
it back)
- Closed
loop communication คือ ผู้ส่งสารส่งสารออกมา (call
out) ผู้รับสารแสดงการรับรู้สารนั้น (check
back) และผู้ส่งสารยืนยันการรับรู้ของผู้รับสาร (closed
loop) เช่น แพทย์ [call out] “สมศรี
ให้ adrenaline 1 mg IV แล้วตามด้วย
NSS 20 mL IV push” พยาบาล
[check back] “รับทราบค่ะ
จะให้ adrenaline 1 mg IV แล้วตามด้วย
NSS 20 mL IV push” แพทย์
[closed loop] “ถูกต้องครับ”
ภาวะผู้นำ (Leadership)
- มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงภาวะผู้นำ ซึ่งในการทำงานให้ได้ผลดีอาจต้องประสานหลายๆแนวคิดเข้าด้วยกัน เช่น
- ทฤษฎีคุณลักษณะ (Trait theory) กล่าวว่าผู้นำต้องมีคุณลักษณะทั้งทางกายภาพ และสภาวะจิตใจที่เหมาะสม เช่น มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความมั่นใจ คุมสติได้เวลาเครียด บริหารจัดการเก่ง การสื่อสารดี
- ทฤษฎีพฤติกรรม (Behavioral theory) กล่าวถึงสไตล์ของผู้นำสองประเภท คือ แบบมุ่งให้งานสำเร็จ (task-oriented) และแบบมุ่งเน้นบุคลากรร่วมทีม (people-oriented) จะมีการสังเกต รับฟัง กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ และสอนงานแก่สมาชิกในทีม
- ทฤษฎีสถานการณ์ (Situational theories) คือ ผู้นำต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์ บางครั้งต้องเด็ดขาดฉับไว บางครั้งต้องรับฟังอย่างรอบคอบโดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถและความมุ่งมั่นของสมาชิก เช่น ถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนหรือสมาชิกที่ยังมีความสามารถน้อยก็ใช้การสั่งแบบบอกให้ทำ (telling) ถ้าสถานการณ์คงที่ แต่สมาชิกขาดความตั้งใจหรือความมุ่งมั่น อาจใช้วิธีเสนอความคิด (selling) คือ บอกเป้าหมาย แล้วกระตุ้นให้หาวิธีปฏิบัติเอง เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วม หรือให้มีส่วนร่วมตัดสินใจ (participating) แต่ถ้าสมาชิกมีทั้งความรู้ดี และมีความมุ่งมั่นทุ่มเทก็มอบหมายงาน (delegating) คือ ผู้นำเพียงระบุปัญหา แล้วให้สมาชิกตัดสินใจและวางแผนเอง
- ทฤษฎีมีส่วนร่วม (shard leadership theory) คือ การกระจายภาวะผู้นำสู่สมาชิกทุกคน โดยการสร้างบรรยากาศให้ทุกคนกล้าที่จะทำ assertiveness แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำกับดูแลเพื่อนร่วมทีม กล้าที่จะทักท้วงเมื่อการปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน
การจัดการความเครียดและความเหนื่อยล้า (Stress
and fatigue management)
ความเครียด (stress)
- เป็นผลจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา กับสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด (stressor) ซึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกถูกคุกคาม (threaten) ซึ่งเราจะรู้สึกถูกคุกคามก็ต่อเมื่อเรื่องนั้นเกินขีดความสามารถหรือทรัพยากรที่มีอยู่
- ความเครียดในระดับที่เหมาะสม (eustress) จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน แต่ความเครียดที่มากขึ้นจะส่งผลให้ทำงานผิดพลาดมากขึ้น บุคลิกภาพและอารมณ์เปลี่ยนไป ขาดสมาธิ ความสามารถในการจัดการลดลง การจัดลำดับความสำคัญผิด การขาดความละเอียดรอบคอบ การละเว้นหรือการบกพร่อง เป็นต้น
- ผลกระทบของความเครียดต่อร่างกาย เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจถี่ เหนื่อยหอบ ปวดท้อง เป็นต้น และผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ความโกรธ ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย ขาดความสนใจ เป็นต้น นอกจากนี้ความเครียดยังสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) อีกด้วย
- การจัดการกับความเครียด แบ่งเป็น
- Primary prevention โดยการกำจัดสาเหตุของความเครียด เช่น การเพิ่มความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ การจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอ
- Secondary prevention โดยฝึกรู้จักกับอารมณ์ของตนเอง อาจบอกให้เพื่อนร่วมงานทราบถึงความกังวลหรือความเครียดที่เกิดขึ้น จัดการกับความคิดตนเอง ปรับกรอบความคิด มองโลกในแง่ดี ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
- Tertiary prevention ทำการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์ ให้คำปรึกษา
- มักเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
และการทำงานเป็นกะ ซึ่งส่งผลรบกวนการคิด การเคลื่อนไหวของร่างกาย
ประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
การสอนทักษะ (Teaching
Non-technical skills)
เป้าหมายของการสอนก็เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมนั้น ซึ่งก็คือ ทัศนคติ
โดยผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนได้เกิดความคิด ไตร่ตรอง
จนกระทั่งตระหนักถึงปัญหาได้ด้วยตนเอง
การสอนมี 3
ระยะ
คือ
- การประเมินสถานการณ์ พิจารณาเรื่องที่จะสอน โดยอาจดูจาก รายงานอุบัติการณ์ การสอบถาม หรือ การสังเกตในสถานการณ์จริง
- การจัดการสอน
- วิธีการสอนมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การถ่ายทอดข้อมูลให้โดยตรง (information-based) การสอนผ่านกรณีศึกษา อาจแสดงบทบาทสมมติ แล้วทำการวิเคราะห์ วิจารณ์ (demonstration-based) และการสอนโดยให้ลงมือกระทำ (practice-based) เช่น การทำกิจกรรมกลุ่ม การทำสถานการณ์จำลองเสมือนจริง
- ทักษะของผู้สอน ได้แก่ การตั้งคำถาม การฟังอย่างตั้งใจ ไม่ด่วนตัดสิน และการบริหารจัดการห้องเรียน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเป็นไปตามวัตถุประสงค์
- การตั้งคำถามของผู้สอน แนะนำให้ใช้เทคนิค facilitation คือ การให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยผู้สอนกระตุ้นให้คิด สามารถแบ่งลำดับของความซับซ้อนของคำถาม คือ 1) การถามเพื่อทดสอบความรู้ ความจำ (remember), 2) เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ (understand), 3) ให้ตีความหมายและประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ (apply), 4) วิเคราะห์ปัญหา (analyses), 5) วิพากษ์กรณีศึกษา (evaluate), 6) การออกแบบใหม่ (create) เช่น การคิดว่าจะพูดประโยคสื่อสารกับทีมใหม่อย่างไร
- การประเมินผล แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
- ประเมินการตอบสนอง (reaction) ควรทำทันที เช่น ดูความพึงพอใจ การเห็นคุณค่า
- การเรียนรู้ (learning) เช่น การทำ pre-/post-test สามารถวัดความรู้และทัศนคติได้
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (behavior) คือ การได้นำไปใช้จริง ทำการติดตามหลังการสอนไประยะหนึ่ง
- ผลลัพธ์ (result) ดูว่าการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่
การทบทวนความรู้
โดยทั่วไปยังไม่มีการกำหนดไว้ชัดเจน แต่ในวงการบินจะอบรมทบทวนทุก 1
ปี
Ref:
กษณา
รักษมณี. Non-technical skills 2561
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น